สินส่วนตัว VS สินสมรส

สินส่วนตัว คือ

1. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส  หมายถึง ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีกรรมสิทธิ์อยู่ก่อนการสมรส ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะใหญ่หรือเล็ก จะมีค่าหรือไม่มี ทั้งนี้รวมไปถึงทรัพยสิทธิต่างๆด้วย เป็นต้น

2. ทรัพย์สินที่เป็นของใช้ส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่แม้ว่าได้มาระหว่างสมรสไม่ว่าด้วยประการใดๆ เช่น นำสินสมรสไปเปลี่ยนมาเป็นของใช้ส่วนตัว ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นของส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัวทั้งสิ้น คือ

  • เครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง สร้อยคอ แหวน เป็นต้น แต่ทรัพย์สินนั้นจะต้องมีตามควรและเหมาะสมแก่ฐานะ
  • เครื่องมือในการประกอบอาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเป็นสินส่วนตัวได้ต่อเมื่อ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการประกอบอาชีพนั้นจริง

3. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หาในระหว่างสมรส  หมายถึง

  • ในการรับมรดกนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินนั้นก็เป็นสินส่วนตัวทั้งสิ้น
  • ส่วนการให้โดยเสน่หานั้น หมายถึง การให้โดยที่ผู้รับมิต้องตอบแทนแก่ผู้ให้อย่างใดๆ ทั้งสิ้น

สินสมรส คือ

1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส  หมายถึง นอกจากที่กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเป็นสินส่วนตัวแล้ว  ทรัพย์สินใดๆที่ได้มาในระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรสทั้งสิ้น   เช่น  “เงินเดือน”  “สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เมื่อหย่ากัน สิทธิตามสัญญาถือเป็นสินสมรส”   “ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ขณะที่เป็นสามีภริยากัน สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อถือเป็นสินสมรส”   “เงินบำนาญหรือสิทธิในการรับบำนาญแม้จะรับราชการก่อนมีการสมรสก็ถือเป็นสินสมรส”  เป็นต้น

2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้ในระหว่างสมรส  หมายถึง ในระหว่างสมรสหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทรัพย์สินมาโดย

  • พินัยกรรม คือ พินัยกรรมต้องทำเป็นหนังสือและระบุว่าเป็น “สินสมรส” ทั้งนี้ไม่รวมถึงการได้มาจากการเป็นทายาทโดยธรรม
  • การให้ คือ การให้ที่ต้องทำเป็นหนังสือ และหนังสือนั้นระบุว่าเป็น “สินสมรส”

หากพินัยกรรมหรือการให้ มิได้ระบุให้เป็นสินสมรส หรือเป็นการให้ด้วยวาจา ทรัพย์สินนั้นจะกลายเป็นสินส่วนตัว  เห็นได้ว่าสอดคล้องกันกับความหมายของสินส่วนตัวข้างต้น

3. ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว  ตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัว มิได้กำหนดความหมายไว้เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น ต้องถือตามหลักทั่วไปของกฎหมาย คือ

  • ดอกผลธรรมดา คือ บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งได้มาเพราะการใช้ของนั้นอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ผลไม้ น้ำนม ขนและลูกของสัตว์
  • ดอกผลนิตินัย คือ ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล และลาภอื่นๆ ที่ได้เป็นครั้งคราวแก่เจ้าทรัพย์จากผู้อื่น เมื่อได้ใช้ทรัพย์นั้นดอกผลเหล่านี้ย่อมคำนวณและถือเอาได้ตามรายวัน

ฉะนั้น ดอกผลของสินสมรสย่อมเป็นสินสมรส แต่ในกรณีนี้ถ้าดอกผลเป็นสินส่วนตัวจะกลายเป็นสินสมรส

       “หากเป็นที่สงสัยว่าจะเป็นสินสมรสหรือไม่ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส” ในทางคดี หากมีปัญหาว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส ฝ่ายที่กล่าวอ้างต้องนำสืบ แต่จะนำข้อสันนิษฐานนี้ไปใช้กับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรสไม่ได้