การประกันตัวหรือการปล่อยชั่วคราว

การปล่อยชั่วคราว หมายถึง การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ และอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าจำเป็น ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างการดำเนินคดี หากไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ ก็ควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราวไป หรือโดยทั่วไปที่เราจะรู้จักว่า “การประกันตัว

วิธีของการปล่อยชั่วคราว

การปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เจ้าพนักงานหรือศาล พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวได้ อาจแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ

1. การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกันแต่อย่างใด เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาลเท่านั้น

2. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยผู้ร้องขอประกันหรือผู้ประกัน ต้องทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือตามหมายเรียก ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาตามนัดหรือหมายเรียก ผู้ประกันจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน

3. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกัน ต้องทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียก และผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกัน ต้องวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะสามารถบังคับเอากับหลักประกันตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ได้ เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย

“ผู้ต้องหา” หมายความถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล

“จำเลย” หมายความถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลแล้ว

2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือจำเลย อันได้แก่ บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีภริยา ญาติ พี่น้อง ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง ทนายความ บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่เจ้าพนักงานหรือศาลเห็นว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติ พี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่เจ้าพนักงานหรือศาลเห็นสมควร